เวลาทำการ : วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.

แนวทางปฏิบัติในการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง

25 ตุลาคม 2561

              เพื่อให้การดําเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ภาคส่วนต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น และเกิดประโยชน์ที่ประชาชนโดยทั่วไปมองเห็น ได้โดยง่าย อันจะเป็นฐานที่ช่วยจรรโลงความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ยั่งยืนต่อไป รัฐบาลจึงมีนโยบาย ที่จะสนับสนุนการดําเนินความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างหน่วยการปกครองในระดับจังหวัด ของไทยกับหน่วยการปกครองระดับเดียวกันหรือเทียบเคียงกันได้ของต่างประเทศ จึงกําหนด หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับนโยบาย กฎระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และบังเกิดผลที่ยั่งยืนต่อไป ดังนี้
1. การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง ให้กระทําในระดับจังหวัดของไทยกับจังหวัด หรือหน่วยการปกครองของต่างประเทศที่มีฐานะเทียบเท่าจังหวัดของไทย เช่น มลรัฐ มณฑล นคร ฯลฯ โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการความสมศักดิ์ศรี เป็นประโยชน์ และยั่งยืน ซึ่งทั้งสองฝ่าย มีศักยภาพในการดําเนินความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว การสถาปนาความสัมพันธ์ เมืองพี่เมืองน้องกับหน่วยการปกครองของต่างประเทศในระดับที่ต่ํากว่าจังหวัดของไทยนั้น อาจอนุโลมเป็นรายกรณีโดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมร่วมกันเป็นรายกรณีไป ซึ่งการดําเนินการต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องและอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประเทศ โดยความตกลงนั้นมิได้มีผลผูกพันรัฐบาลไทย
2. การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง หมายถึง ความสัมพันธ์ที่อาจใช้ชื่อเรียก อย่างอื่นด้วย เช่น การสถาปนาความร่วมมือ เมืองคู่มิตร เมืองมิตรภาพ เมืองคู่แฝด และเมืองฉันมิตร
3. การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง กรณีริเริ่มโดยจังหวัดของไทย ให้จังหวัด มีหนังสือเสนอเรื่องต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการสถาปนา ความสัมพันธ์กับจังหวัดหรือหน่วยการปกครองของต่างประเทศ และให้กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศพร้อมข้อพิจารณาในเบื้องต้นเพื่อหารือความเหมาะสมด้วย และให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งผลการพิจารณาความเหมาะสมของการสถาปนา ความสัมพันธ์ให้กระทรวงมหาดไทยทราบ และให้กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้งจังหวัดรับทราบ ผลการพิจารณาด้วย
4. การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง กรณีริเริ่มโดยหน่วยการปกครองของต่างประเทศ หรือมีการทาบทามผ่านสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ให้สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่รายงานกระทรวงการต่างประเทศตามที่ได้รับเรื่องการทาบทามเพื่อการสถาปนา ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดหรือหน่วยการปกครอง ของต่างประเทศ แล้วให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาความเหมาะสมของจังหวัด หรือหน่วยการปกครองของต่างประเทศที่จะมีการสถาปนาความสัมพันธ์ฯ และแจ้งผลการพิจารณา ให้กระทรวงมหาดไทยทราบด้วย และให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งจังหวัดที่ได้รับการทาบทามพิจารณาความประสงค์ในการสถาปนาความสัมพันธ์ฯ กรณีการทาบทามที่ไม่ระบุจังหวัด ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแจ้งการทาบทามไปยังจังหวัดที่มีความเหมาะสมในการสถาปนา ความสัมพันธ์ฯ และหากจังหวัดที่ได้รับการทาบทามเห็นว่า มีความเหมาะสมก็ให้จังหวัดนั้น มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาพร้อมแผนปฏิบัติการและแผนงบประมาณมายังกระทรวงมหาดไทย แล้วให้กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของจังหวัดไปยังกระทรวงการต่างประเทศด้วย
5. ให้จังหวัดของไทยและจังหวัดหรือหน่วยการปกครองของต่างประเทศร่วมกันยกร่างบันทึก ความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ในการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง จนได้ร่างที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้อง ทั้งนี้ ก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ฯ อาจพิจารณาจัดทําเป็นหนังสือ แสดงเจตจํานง (Letter of intent) ที่จะสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องอย่างเป็นทางการ ระหว่างกันในอนาคต
6. จังหวัดของไทยสามารถมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นต้นกับหน่วยการปกครองของต่างประเทศได้ แต่ต้องไม่ถึงขั้นประกาศเจตนารมณ์ที่จะสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องอย่างเป็นทางการ ระหว่างกันในอนาคตโดยร่วมลงนามในเอกสารกับหน่วยการปกครองของต่างประเทศ เช่น หนังสือ แสดงเจตจํานง (Letter of Intent)
7. ในการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องให้จังหวัดจัดทําแผนปฏิบัติการ และแผนงบประมาณ บุคลากรที่จะดําเนินการร่วมกับหน่วยการปกครองของต่างประเทศ เพื่อประกอบการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
8. การแสดงเจตจํานงที่จะสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกันในอนาคต และการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง กรณีดําเนินการโดยการลงนามในร่างหนังสือ แสดงเจตจํานงและร่างบันทึกความเข้าใจฉบับมาตรฐาน (ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ที่ยกร่างโดยกระทรวงการต่างประเทศตามลําดับ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและให้ความเห็นชอบ/อนุมัติไปได้ โดยถือว่าคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ/อนุมัติแล้ว และให้นําเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ ในภายหลัง ทั้งนี้ ในกรณีที่จังหวัดมีการแก้ไขเพิ่มเติมแตกต่างไปจากร่างหนังสือแสดงเจตจํานง หรือร่างบันทึกความเข้าใจฉบับมาตรฐานที่ยกร่างโดยกระทรวงการต่างประเทศให้กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการจัดทําหนังสือสัญญา ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วพิจารณา ดังนี้
      8.1) หากหน่วยงานดังกล่าวมีความเห็นร่วมกันว่า เป็นการแก้ไขปรับปรุงถ้อยคํา หรือสาระสําคัญที่ไม่ขัดกับหลักการของร่างหนังสือแสดงเจตจํานงหรือร่างบันทึกความเข้าใจ ฉบับมาตรฐานที่ยกร่างโดยกระทรวงการต่างประเทศและไม่เป็นการจัดทําหนังสือสัญญาตามบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ให้ดําเนินการต่อไปได้ โดยถือว่าคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ/ อนุมัติแล้ว
      8.2) หากหน่วยงานดังกล่าวมีความเห็นร่วมกันว่า เป็นการแก้ไขที่ไม่สอดคล้อง กับหลักการของร่างหนังสือแสดงเจตจํานงหรือร่างบันทึกความเข้าใจฉบับมาตรฐานที่ยกร่าง โดยกระทรวงการต่างประเทศก็ให้นําเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นกรณี ๆ ไป
9. เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้รับความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจํานงหรือร่างบันทึก ความเข้าใจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งจังหวัดของไทยทราบ หลังจากนั้นให้จังหวัดของไทยและจังหวัด หรือหน่วยการปกครองของต่างประเทศกําหนดวันและสถานที่ที่จะร่วมลงนามในร่างหนังสือ แสดงเจตจํานงหรือร่างบันทึกความเข้าใจ ทั้งนี้ ผู้ลงนามของฝ่ายไทยต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ลงนามของฝ่ายต่างประเทศ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือชื่อเรียกอย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า
10. เมื่อได้มีการลงนามในร่างหนังสือแสดงเจตจํานงหรือร่างบันทึกความเข้าใจแล้ว ให้จังหวัดรายงานผลการดําเนินงานพร้อมส่งสําเนาหนังสือแสดงเจตจํานงหรือบันทึกความเข้าใจ จํานวน ๑ ชุดให้กระทรวงมหาดไทยทราบและให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งผลการดําเนินงาน พร้อมส่งสําเนาหนังสือแสดงเจตจํานงหรือบันทึกความเข้าใจ จํานวน ๑ ชุด ให้กระทรวง การต่างประเทศทราบ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการประสานงานและการดําเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี กับประเทศที่เกี่ยวข้องต่อไป
11. ในการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาขยายขอบเขตความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงการอํานวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ และกําหนดกลไกในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่เมื่อเกิดปัญหาระหว่างกัน โดยต้อง พิจารณาให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีอยู่ด้วย
12. การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง ในร่างหนังสือแสดงเจตจํานงหรือร่าง บันทึกความเข้าใจต้องไม่ใช้ถ้อยคําที่ถ่อหรืออาจก่อให้เกิดความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ
13. การขับเคลื่อนและการติดตามผล ให้จังหวัดที่ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ แล้ว พิจารณาดําเนินการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้การสถาปนาความสัมพันธ์ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างเหมาะสมและมีความต่อเนื่อง รวมทั้งรายงานผลความคืบหน้า ต่อกระทรวงมหาดไทยเป็นระยะ ๆ และให้กระทรวงมหาดไทยประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลและผลการดําเนินงานในการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องแล้วรายงาน ให้คณะรัฐมนตรีทราบ ทุก ๑ ปี โดยกําหนดให้ชัดเจนด้วยว่า เกิดผลผลิตและผลลัพธ์อย่างไร โดยมีตัวชี้วัดผลการดําเนินการที่ชัดเจนเพื่อให้การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง และให้มีการประเมินผลครอบคลุมถึงเมืองพี่เมืองน้อง ที่ได้สถาปนาไปแล้วในอดีตด้วย

ทั้งนี้ หากส่วนราชการอื่น ๆ ประสงค์ที่จะเพิ่มความร่วมมือในมิติอื่น ๆ ให้พิจารณาโดยใช้กรอบกลไกเมืองพี่เมืองน้องที่มีอยู่ เพื่อความมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ ในการดําเนินนโยบายของไทยกับประเทศต่าง ๆ โดยให้ส่วนราชการดังกล่าวประสานงาน กับกระทรวงมหาดไทยอย่างใกล้ชิด

Last updated by
นางสาว ชนิกาภรณ์ ปิ่นธิดา
17 เมษายน 2567

วีดีโอ

เอกสาร & ไฟล์อ้างอิง

จำนวนผู้ชม
3502

แบ่งปัน